ที่มา : พูนศักดิ์ ประถมบุตร กายวิภาคและสรีรวิทยา พิมพ์ครั้งที่ ๒ สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ หน้า ๑๐๔ - ๑๑๓
เรื่อง การทำงานของระบบหายใจ
การทำงานของระบบหายใจ
อัตราการหายใจ โดยปกติเราจะหายใจประมาณ ๑๘ - ๒๐ ครั้งต่อนาที ในเด็กและทารกจะหายใจเร็วกว่านี้ การที่อากาศจะไหลเข้าออกจากปอดได้ โดยอาศัยความแตกต่างของความกดดันของอากาศ ปกติความดันที่ระดับน้ำทะเลประมาณ ๗๖๐ มิลลิเมตรปรอท สำหรับการหายใจเข้าความดันอากาศในถุงลมต้องน้อยกว่า ๗๖ มิลลิเมตรปรอท การลดความดันของอากาศในถุงลม เพื่อให้อากาศนอกไหลผ่านเข้ามาในปอด ทำให้มีการหายใจเข้านั้น เริ่มจากการเคลื่อนไหวของสิ่งเหล่านี้ คือ
ก. กล้ามเนื้อกระบังลมหดตัวเคลื่อนลง
ข. กระดูกซี่โครงถูกยกขึ้นและขยายออกด้วยกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครง ( external intercostal )
การเคลื่อนไหวนี้จะทำให้ช่องอกขยายขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ความดันของอากาศในถุงลมลดลงและในเวลาเดียวกันกล้ามเนื้อท้องดันเอากล้ามเนื้อกระบังลมขึ้น ทำให้ช่องอกแคบลง ซึ่งเป็นผลให้ความดันอากาศในถุงลมเพิ่มขึ้นเหนือ ๗๖๐ มิลลิเมตรปรอท อากาศจะไหลออกจากปอด เกิดการหายใจออก
การหายใจนอกจากอาศัยการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อกระบังลมกับกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครงแล้วยังอาศัยการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้ออื่นๆ อีก เช่น กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อไหล่ กล้ามเนื้อคอ ซึ่งจะช่วยยกระดับซี่โครงให้ขยายออกอีก
ศูนย์ควบคุมการหายใจ ( respiratory center )
ศูนย์ควบคุมการหายใจ มี ๓ แห่งด้วยกันคือ
๑. ประสาทสมองส่วนก้านสมอง ( medulla ) ซึ่งแยกออกเป็นศูนย์ควบคุมการหายใจเข้า และศูนย์ควบคุมการหายใจออก ทั้งสองศูนย์เป็นระบบประสาทอัตโนมัติ
๒. ประสาทสมองพอนส์ ( pons )
- ที่ส่วนล่างของ pons มีศูนย์ควบคุมให้หายใจเข้าและหยุดการหายใจออก ( apneustic center )
- ที่ส่วนบนของ pons มีศูนย์ควบคุมที่รั้งหรือหยุดการทำงานของ apneustic center คือหยุดการหายใจเข้าเพื่อให้หายใจออก
ในขณะที่เราหายใจเข้าประสาทส่วนบังคับการหายใจเข้าทำงาน ประสาทส่วนการหายใจออกไม่ทำงานเพราะถูกกดให้หยุด และเมื่อประสาทบังคับการหายใจออกทำงาน ประสาทส่วนการหายใจเข้าจะหยุดทำงานเช่นกัน
๓. ประสาทสมองคู่ที่ ๑๐ คือประสาท vagus โดยส่งกระแสประสาทผ่านไปยัง stretch receptor ซึ่งตั้งอยู่ในปอด ฟน้าที่ของ stretch receptor คือหยุดการหายใจเข้าเมื่อปอดถูกทำให้ขยายตัว และการทำงานของมันเป็นไปด้วยปฏิกิริยาตอบโต้อัตโนมัติ ซึ่งมีชื่อตามผู้ค้นพบว่าปฏิกิริยาเฮอริง - บรูเออร์ (Hering - Breuer reflex)
ศูนย์ควบคุมการหายใจนี้ มีส่วนสัมพันธ์กับการเผาผลาญอาหารในร่างกายและการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เกิดขึ้นในโลหิต การที่โลหิตมีปฏิกิริยาเป็นกรด หรือมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งอยู่มาก เป็นเหตุอันหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจให้ทำงานมากขึ้น เพื่อรับเอาออกซิเจนเข้าไปให้ได้สัดส่วนกับคาร์บอนไดออกไซด์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น