วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2559

การทำงานของระบบหายใจ

วันที่ ๒๔ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : พูนศักดิ์   ประถมบุตร   กายวิภาคและสรีรวิทยา  พิมพ์ครั้งที่ ๒  สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์                            หน้า ๑๐๔ - ๑๑๓



เรื่อง การทำงานของระบบหายใจ


การทำงานของระบบหายใจ
                    อัตราการหายใจ  โดยปกติเราจะหายใจประมาณ  ๑๘ - ๒๐  ครั้งต่อนาที  ในเด็กและทารกจะหายใจเร็วกว่านี้  การที่อากาศจะไหลเข้าออกจากปอดได้  โดยอาศัยความแตกต่างของความกดดันของอากาศ  ปกติความดันที่ระดับน้ำทะเลประมาณ  ๗๖๐  มิลลิเมตรปรอท  สำหรับการหายใจเข้าความดันอากาศในถุงลมต้องน้อยกว่า  ๗๖  มิลลิเมตรปรอท  การลดความดันของอากาศในถุงลม  เพื่อให้อากาศนอกไหลผ่านเข้ามาในปอด  ทำให้มีการหายใจเข้านั้น เริ่มจากการเคลื่อนไหวของสิ่งเหล่านี้ คือ
                    ก. กล้ามเนื้อกระบังลมหดตัวเคลื่อนลง
                    ข. กระดูกซี่โครงถูกยกขึ้นและขยายออกด้วยกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครง  ( external  intercostal )
                    การเคลื่อนไหวนี้จะทำให้ช่องอกขยายขึ้น  ซึ่งเป็นผลให้ความดันของอากาศในถุงลมลดลงและในเวลาเดียวกันกล้ามเนื้อท้องดันเอากล้ามเนื้อกระบังลมขึ้น  ทำให้ช่องอกแคบลง  ซึ่งเป็นผลให้ความดันอากาศในถุงลมเพิ่มขึ้นเหนือ  ๗๖๐  มิลลิเมตรปรอท  อากาศจะไหลออกจากปอด  เกิดการหายใจออก
                    การหายใจนอกจากอาศัยการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อกระบังลมกับกล้ามเนื้อระหว่างซี่โครงแล้วยังอาศัยการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้ออื่นๆ อีก  เช่น  กล้ามเนื้อหน้าท้อง  กล้ามเนื้อไหล่  กล้ามเนื้อคอ  ซึ่งจะช่วยยกระดับซี่โครงให้ขยายออกอีก

ศูนย์ควบคุมการหายใจ ( respiratory center )
                    ศูนย์ควบคุมการหายใจ  มี  ๓  แห่งด้วยกันคือ
                    ๑.  ประสาทสมองส่วนก้านสมอง ( medulla )  ซึ่งแยกออกเป็นศูนย์ควบคุมการหายใจเข้า  และศูนย์ควบคุมการหายใจออก  ทั้งสองศูนย์เป็นระบบประสาทอัตโนมัติ
                    ๒.  ประสาทสมองพอนส์ ( pons )
                              -   ที่ส่วนล่างของ pons  มีศูนย์ควบคุมให้หายใจเข้าและหยุดการหายใจออก ( apneustic  center )
                              -   ที่ส่วนบนของ  pons  มีศูนย์ควบคุมที่รั้งหรือหยุดการทำงานของ  apneustic  center คือหยุดการหายใจเข้าเพื่อให้หายใจออก
                    ในขณะที่เราหายใจเข้าประสาทส่วนบังคับการหายใจเข้าทำงาน  ประสาทส่วนการหายใจออกไม่ทำงานเพราะถูกกดให้หยุด  และเมื่อประสาทบังคับการหายใจออกทำงาน  ประสาทส่วนการหายใจเข้าจะหยุดทำงานเช่นกัน
                     ๓.  ประสาทสมองคู่ที่ ๑๐  คือประสาท vagus  โดยส่งกระแสประสาทผ่านไปยัง stretch  receptor  ซึ่งตั้งอยู่ในปอด  ฟน้าที่ของ stretch  receptor  คือหยุดการหายใจเข้าเมื่อปอดถูกทำให้ขยายตัว และการทำงานของมันเป็นไปด้วยปฏิกิริยาตอบโต้อัตโนมัติ  ซึ่งมีชื่อตามผู้ค้นพบว่าปฏิกิริยาเฮอริง - บรูเออร์ (Hering - Breuer reflex)
                     ศูนย์ควบคุมการหายใจนี้  มีส่วนสัมพันธ์กับการเผาผลาญอาหารในร่างกายและการเปลี่ยนแปลงทางเคมีที่เกิดขึ้นในโลหิต  การที่โลหิตมีปฏิกิริยาเป็นกรด  หรือมีคาร์บอนไดออกไซด์คั่งอยู่มาก  เป็นเหตุอันหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจให้ทำงานมากขึ้น  เพื่อรับเอาออกซิเจนเข้าไปให้ได้สัดส่วนกับคาร์บอนไดออกไซด์

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

เม็ดโลหิตแดง ( erythrocyte หรือ red blood cell )

วันที่ ๑๙ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : พูนศักดิ์   ประถมบุตร   กายวิภาคและสรีรวิทยา  พิมพ์ครั้งที่ ๒  สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์                            หน้า ๖๒ - ๗๑


เรื่อง เม็ดโลหิตแดง ( erythrocyte หรือ red blood cell )


                    เม็ดโลหิตแดง ( erythrocyte หรือ red blood cell )

               ลักษณะ เม็ดโลหิตแดงเป็นเซลล์ที่ไม่มีนิวเคลียส  มองด้านบนเป็นรูปกลม  มองด้านตรงกลางเว้าเข้าหากัน (biconcave) การเว้าทำให้ก๊าซซึมเข้าเม็ดโลหิตได้ง่าย  มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ  ๗.๒  ไมครอน  ( ๑ ไมครอน  = ๐.๐๐๑ มม. )

               จำนวนโดยปกติผู้ชายจะมีเม็ดโลหิตแดงประมาณ  ๕  ล้านเซลล์  ต่อ ๑ ลบ.มม.  ของโลหิต  ผู้หญิงมีประมาณ  ๔.๕ ล้านเซลล์  ต่อ ๑ ลบ.มม.

               หน้าที่   ช่วยขนส่งก๊าซออกซิเจนจากปอดไปสู่เยื่อต่างๆ  โดยการรวมตัวกับฮีโมโกลบิน ( heamoglbin หรือ Hb ) ในเม็ดโลหิตแดงเป็นออกซีฮีโมโกลบิน  ( oxyhamoglobin )  และ ช่วยลำเลียงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  จากเนื้อเยื่อกลับไปยังปอด  นอกจากนี้ Hb  ยังช่วยในการรักษาความเป็นกรดด่างของโลหิตอีกด้วย

               ( ฮีโมโกลบิน  ประกอบด้วย   heme  =  โลหิตประมาณ  ๔ %  ซึ่งประกอบด้วยเหล็ก  และ globin สารโปรตีนประมาณ ๙๖ % )

               ในโลหิตปกติจะมีฮีโมโกลบินประมาณ  ๑๕ กรัมต่อโลหิต  ๑๐๐ มล.  ฮีโมโกลบิน  ๑  กรัม  สามารถจับออกซิเจนได้  ๑.๓๔  มล.  ดังนั้นโลหิต ๑๐๐ มล.  สามารถจับออกซิเจนได้ประมาณ  ๒๐  มล.  หรือร้อยละ  ๒๐  โดยปริมาตร

               การส้รางเม็ดโลหิตแดง  เม็ดโลหิตแดงถูกสร้างขึ้นที่ไขกระดูก ( Bone marrow )  มีอายุประมาณ  ๑๒๐  วัน  จึงถูกทำลายที่ตับและม้าม

                    การผิดปกติที่เกี่ยวกับเม็ดโลหิตแดง

               โลหิตจาง ( anemia )  เนื่องจากขาดธาตุเหล็ก  หรือมีเม็ดโลหิตแดงน้อย  (ฮีมาโตคริดต่ำ)  โดยอาจเกิดจากการสูญเสียโลหิต  หรือเป็นโรคพยาธิ  นอกจากเหล็กแล้ว  วิตามินบี ๑๒  ก็มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดโลหิตแดง
               เม็ดโลหิตแดง ( haemolysis ) สาเหตุเนื่องจากเชื้อมาลาเลียและแบคทีเรียบางชนิด  เช่น  สเตรพโตคอคซิ  สตาฟิโลคอคซิ  หรือการได้รับสารเคมีพวกตะกั่ว  สารหนู  ละพิษงู  จากยาบางชนิด  ซัลฟามาไมด์  และอมิโตไพริน  เป็นต้น
                นอกจากนี้เม็ดโลหิตแดงอาจถูกกัน ( block ) ไม่ให้สามารถจับออกซิเจนได้  โดยก๊าซคาร์บอนมอน็อกไซด์ ( co )  โดยที่ฮีโมโกลบินจับคาร์บอนมอนน็อกไซด์ดีกว่า  ออกซิเจนทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน  และทำให้ถึงเสียชีวิต
               

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

สารนับล้านเกิดจากธาตุไม่กี่ชนิดได้อย่างไร

วันที่ ๑๘ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : ชมรมบ้านวิทยาศาสตร์   วิทยาศาสตร์น่ารู้  บริษัท ไทยร่มเกล้า จำกัด  หน้า ๖๒ - ๗๑


เรื่อง สารนับล้านเกิดจากธาตุไม่กี่ชนิดได้อย่างไร


                    ธาตุที่เสถียรอยู่ตามธรรมชาติมีเพียง  ๙๒  ธาตุเท่านั้น  ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะค้นพบมากกว่า ๑๐๗  ธาตุ  แต่มีเพียง  ๑๕  ธาตุที่ต้องสังเคราะห์ขึ้นในห้องทดลองเพราะเป็นธาตุไม่เสถียรเมื่ออยู่ตามธรรมชาติ

                    สารต่างๆ ในจักรวาลเกิดจากการรวมตัวกันของอะตอมของธาตุ ๙๒  ธาตุ  ในสัดส่วนที่ต่างกันธาตุที่สำคัญ  เช่น  เหล็ก  ทอง  เงิน  ทองแดง  อะลูมิเนียม  โซเดียม  โพแทสเซียม  ออกซิเจน  ไนโตรเจน  คลอรีน  คาร์บอน  กำมะถัน  เป็นต้น  ซึ่งธาตุเหล่านี้ทำให้เกิดสารรูปแบบต่างๆ นับไม่ถ้วน  เช่น  อะตอมของไฮโดรเจน  ๒  อะตอม  กับอะตอมของออกซิเจน  ๑ อะตอม  จะได้โมเลกุล  ของน้ำ  ๑ โมเลกุล  และอะตอมของโซเดียม  ๑  อะตอม   รวมกับอะตอมของคลอรีน  ๑  อะตอมก็จะได้โซเดียมคลอไรด์หรือเกลือ  ๑  โมเลกุล

                    อะตอมของธาตุต่างๆ  จะรวมกันได้  ๒  แบบ แบบแรกอะตอมประกอบด้วยขั้วบอกที่มีนิวเคลียสอยู่ส่วนกลางและมีอิเล็กตรอนซึ่งเป็นขั้วลบวิ่งรอบนิวเคลียส  เมื่ออะตอมของธาตุมารวมกัน  อะตอมของธาตุหนึ่งจะให้อิเล็กตรอนเพื่อสร้างพันธะระหว่างอะตอมทำให้เกิดเป็นสารใหม่  แบบที่  ๒  คือ  อะตอมจะสร้างพันธะโดยการใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน  ซึ่งทั้ง  ๒  แบบ  มีการรวมกันเฉพาะอิเล็กตรอนวงนอกสุด  เช่น  ในการเกิดเกลือ  อิเล็กตรอนของโซเดียมจะให้อิเล็กตรอนแก่อะตอมของคลอรีน  การให้อิเล็กตรอนทำให้โซเดียมเป็นไอออนบวกและอะตอมของคลอรีนเป็นไอออนลบ  ซึ่งจะเกิดแรงกระทำทางไฟฟ้าระหว่าง  ๒  ไอออนนี้  แรงดึงดูดนี้จะเชื่อมอะตอมทั้งสองไว้ด้วยกันและเกิดโมเลกุลของเกลือ  เช่นเดียวกับการเกิดน้ำ  อะตอมของไฮโดรเจนและออกซิเจนจะมีอิเล็กตรอนที่ใช้รวมกันโดยแรงดึงดูดนี้
                    นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียชื่อ  ดิมิทรี  เมนเดเลเอฟ  ได้แบ่งธตุออกเป็นกลุ่มและได้พิมพ์ตารางธาตุเพื่อแสดงธาตุทั้งหมดเป็นกลุ่มตามลำดับในปี ค.ศ. ๑๙๘๙

ยูเรเนียมคืออะไร ?

วันที่ ๑๘ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : ชมรมบ้านวิทยาศาสตร์   วิทยาศาสตร์น่ารู้  บริษัท ไทยร่มเกล้า จำกัด  หน้า ๑๐๔ - ๑๑๓


เรื่อง ยูเรเนียมคืออะไร ?


                    ยูเรเนียม เป็นธาตุกัมมันตรังสีที่มีสีเงินและเป็นโลหะหนัก จะกลายเป็นสีดำถ้าสัมผัสกับอากาศ  โลหะนี้เพียงหนึ่งลูกบาศก์ฟุตจะหนักถึงครึ่งตัน  มักอยู่ในรูปยูเรเนียมออกไซด์ในแร่พิชเบลนด์  ซึ่งเป็นแร่ที่มีส่วนผสมระหว่างยูเรเนียมและเรเดียม

                    ยูเรเนียม ถูกค้นพบโดยนักเคมีชาวเยอรมันชื่อ  ไฮน์ริค  มาร์ติน  แคลพรอท                   ในปี ค.ศ. ๑๗๘๙  เขาได้ตั้งชื่อว่า  ยูเรนิต  แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นยูเรเนียมตามชื่อดาวยูเรนัส  ในตอนปลายศตวรรษที่ ๑๘ นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างสารประกอบของโลหะชนิดนี้ขึ้นมากมายและในปี   ค.ศ.  ๑๘๙๖ เฮนรี  เบคเคอเรล  ได้พบกัมมันตภาพรังสีในยูเรเนียม

                    ยูเรเนียม ในธรรมชาติเป็นส่วนผสมของ ๒ ไอโซโทปคือ ยูเรเนียม-๒๓๘ (๙๙.๒๘๓%)  และยูเรเนียม-๒๓๕ (๐.๗๑๑%)  ในช่วงแรกยูเรเนียมถูกนำมาใช้ย้อมสีผ้าไหมและภาชนะดินเผา  แต่ภายหลังกัมมันตภาพรังสีที่ได้จากนิวเคลียสของยูเรเนียมมีประโยชน์มากในด้านพลังงานนิวเคลียร์  การเกษตร  อุตสาหกรรม  งานวิจัยทางชีววิทยา  และการแพทย์
                    
                    ในค.ศ. ๑๙๓๘  มีผู้ค้นพบกระบวนการนิวเคลียร์ฟิชชั่นโดยการยิงนิวตรอนไปที่นิวเคลียสของยูเรนียม-๒๓๕  แล้วให้พลังงานจำนวนมหาศาลออกมา  หลักการนี้สหรัฐอเมริกาได้นำมาทำระเบิดปรมาณูในปี  ค.ศ. ๑๙๔๕ เพื่อใช้ต่อสู้กับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ ๒
                    ปัจจุบันปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันได้นำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่งยูเรเนียมเพียง  ๑ ปอนด์สามารถให้พลังงานได้เท่ากับพลังงานจากการเผาถ่านหิน ๓  ล้านปอนด์  ดังนั้นไอโซโทปของยูเรเนียม-๒๓๕  จึงได้นำมาใช้ในเตาปฎิกรณ์พลังงานปรมาณูเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า  นอกจากนี้ยูเรเนียมยังใช้ดูดรังสีเอ็กซ์และรังสีแกมมาอีกด้วย  ออกไซด์ของยูเรเนียมใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในปฏิกิริยาเคมี
                    เราจะพบยูเรเนียมบนเปลือกโลก  ๔  ส่วนในพื้นที่ ๑  ล้านส่วนในบริเวณที่เป็นภูเขาหิน  พิชเบลนด์เป็นหนึ่งในสินแร่ที่สำคัญของยูเรเนียมซึ่งพบมากในประเทศประเทศอังกฤษ  อินเดีย  และทวีปแอฟริกา

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559

ระบบวิวัฒนาการ ความพยายามของแต่ละชีวิต

วันที่ ๑๑ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : ศักดิ์  บวร   สภาพแวดล้อม ฉบับการ์ตูน  บริษัท สำนักพิมพ์สมิต  หน้า ๓๓ - ๔๒


เรื่อง ระบบวิวัฒนาการ ความพยายามของแต่ละชีวิต


                    ภายใต้อิทธิพลของชีวิต  วัฏจักรสารเคมีที่มีอยู่ในโลกถูกสร้างขึ้น  ถูกดัดแปลงและถูกเก็บรักษามาอย่างยาวนาน  โดยตาข่ายที่ซับซ้อนของอินทรีย์สารจะเป็นตัวขับเคลื่อนธาตุจำเป็นที่มีอยู่เพียงน้อยนิด  แต่ล้ำค่าเหล่านี้ไปทั่ว  จนมีคำโต้แย้งว่าโลกของเราต่างหากที่มีพฤติกรรมเหมือนสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ยักษ์และเป็นตัวควบคุมวัฏจักรสารเคมีเพื่อประโยชน์ของตน
                    หรืออย่างน้อยนั่นก็เป็นมุมมองจากระยะไกล  แต่เมื่อมีการมองว่าวัฏจักรไบโอ, จีโอ, และไฮโดรเคมีเป็น  ระบบ  และเมื่อมองจากแง่มุมของ  ชีวิตเฉพาะตน  มุมมองต่างๆ  ในวัฏจักรของแหล่งสารเคมีที่กว้างใหญ่และไม่แน่นอนเหล่านี้จึงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย  นั่นคือชีวิตเฉพาะตนเป็นชีวิตที่เรียบง่ายกว่าและมีเป้าหมายที่เห็นแก่ตัวมากขึ้น
                    ชีวิตเฉพาะตนพยายาม  กิน  และ  หลีกเลี่ยงการถูกกิน  ให้ได้นานมากพอจนการ  แพร่พันธุ์  ประสบความสำเร็จ (ลูกหลานที่มีชีวิตอยู่รอดมีจำนวนมากขึ้น)
                    แม้ชีวิตเฉพาะตนจะเป็นส่วนหนึ่งของระบบ  แต่ความต้องการเฉพาะตนก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับความจำเป็นของระบบ  ยกตัวอย่างเช่น  ชาวเกาะอีสเตอร์ต้องการเพียง   ต้นไม้ต้นหนึ่งในแต่ละครั้ง  เพื่อนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงหรือสร้างบ้าน  ในขณะที่ระบบของสังคมต้องการ  ป่า  มาสนองความต้องการของตน
                    ชีวิตเฉพาะตนถูกนำเข้าสู่ตาข่ายของระบบ  อันได้แก่ครอบครัว  ชุมชนเผ่าพันธุ์โลกของสิ่งมีชีวิต  ซึ่งมีทั้งการส้างโอกาสและเป็นข้อจำกัดในขณะเดียวกัน  พฤติกรรมต่างๆ  ของพวกเราก็สร้างระบบต่างๆ ขึ้นมาด้วยเมื่อชีวิตเฉพาะตนแสดงบทบาทร่วมกับระบบ  สิ่งที่ตามมาคือ  วิวัฒนาการ


          วิวัฒนาการ
                    ชีวิตเฉพาะตนแข่งขันกับผู้อื่นเพื่อแย่งชิงแหล่งทรัพยากร  ด้วยเหตุผลที่ว่าทุกชีวิตต้องพยายามรักษาชีวิตของตนให้ยืนยาวมากพอเพื่อให้กระบวนการแพร่พันธุ์หรือการผลิตขึ้นมาใหม่เดินหน้าต่อไป  แม้นั่นจะหมายความว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  จะต้องหิวโหยก็ตาม
                    ชีวิตเฉพาะตนไม่เหมือนกันหมดทุกชีวิต  เพราะแต่ละชีวิตจะมีการผสมผสานคุณสมบัติทางด้านพันธุกรรมที่แตกต่างกันเล็กน้อย  ซึ่งคุณสมบัติที่ได้จากการผสมผสานเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เจ้าของอยู่ในฐานะ  ผู้ได้รับการคัดสรรที่ได้เปรียบ  สิ่งมีชีวิตที่โชคดีสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้มากกว่า  สามารถหลีกเลี่ยงสัตว์กินเนื้ออื่นๆ ได้ดีกว่า  สามารถทนความร้อนและความหนาวเย็นรวมไปถึงการแพร่พันธุ์ได้ดีกว่า   ผลก็คือ  การแพร่พันธุ์ที่แตกต่างกัน  ชีวิตเฉพาะตนที่มีคุณสมบัติเอื้ออำนวยจะแพร่พันธุ์ได้มากขึ้น  ลูกหลานจำนวนหนึ่งได้รับการถ่ายทอดคุณสมบัติทางด้านพันธุกรรมที่ดี  พวกเขาจึงแพร่พันธุ์ได้มากขึ้นด้วย  เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วอายุ  ผู้ที่มีการปรับตัวได้ดีกว่าจะกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่บางครั้ง  ลูกหลานจะวิวัฒนาการไปเป็นสายพันธุ์ใหม่โดยสิ้นเชิง
                    

ลาก่อน ไบโอม!

วันที่ ๑๑ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : ศักดิ์  บวร   สภาพแวดล้อม ฉบับการ์ตูน  บริษัท สำนักพิมพ์สมิต  หน้า ๑๒๙- ๑๓๘


เรื่อง ลาก่อน ไบโอม!


                    ในขณะที่สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์มนุษย์ดัดแปลงเอาแหล่งพลังงานชีวะมาเป็นประโยชน์ของตนผลกระทบที่มีต่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ  ส่วนใหญ่ก็อยู่ในขั้นถึงหายนะ  ในบทนี้  เราจะมาดูเรื่องการทำลายป่า  การล่าสัตว์เพื่อการค้า  ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ  ของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อไบโอเฟียร์ (โลกของสิ่งมีชีวิต)  

                    มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในโลกจำนวนทั้งหมดกี่สายพันธุ์กันแน่?  เรื่องนี้ไม่มีใครรู้  เพราะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ  เพิ่มมากขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี  และไม่มีใครบอกได้ด้วยว่าจะมีให้พบอีกเป็นจำนวนเท่าไหร่แต่ถึงวันนี้  นักวิทยาศาสตร์สามารถจำแนกสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตได้แล้ว  ๑.๔ ล้านสายพันธุ์  และประมาณการว่าจำนวนที่ถึงจุดสมดุลน่าจะอยู่ในระหว่าง ๑ - ๑๐๐ ล้าน!    แต่จากจำนวนที่นักวิทยาศาสตร์รู้จักแล้วมีสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังไม่เกิน ๔  เปอร์เซ็นต์  และครึ่งหนึ่งได้แก่ปลา  ที่เหลืออีก ๒  เปอร์เซ็นต์  ถูกแบ่งออกเป็นนก  (๐.๘ เปอร์เซ็นต์ )   เป็นสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (๐.๘ เปอร์เซ็นต์ )  และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  ( ๐.๔ เปอร์เซ็นต์ )  ในขณะที่  ๘๕ เปอร์เซ็นต์ (โดยประมาณ)  ของสัตว์ทั้งหมดเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวเชื่อมต่อกับแขนขา  ซึ่งรวมถึงแมลง  แมงมุม  กุ้งล็อบสเตอร์และแมงป่อง  
                    อย่างไรก็ตามสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ  ไม่ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก  ตรงกันข้าม  ในบางส่วนของโลกโดยเฉพาะส่วนที่เป็นเขตร้อนจะมีพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ประจำถิ่นหนาแน่นมากกว่าแห่งอื่นๆ  อย่างเห็นได้ชัด  และนี่คือแผนที่แสดงภูมิภาคที่มีสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต  หนาแน่นเป็นพิเศษ  
                    โดยเฉพาะ  เกาะต่างๆ อาจมีสิ่งมีชีวิตหนาแน่นมากเป็นพิเศษยกตัวอย่างเช่น  เกาะมาร์ดากัสกา  ซึ่งครั้งหนึ่งในอดีตเคยเชื่อมต่อกับแผ่นดินใหญ่ของทวีปแอฟริกา  ได้กลายเป็นแหล่งอาศัยที่โดดเดี่ยวของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์โบราณจำนวนมากมายที่มีชีวิตอยู่รอดไม่ได้ในสถานที่อื่น  ทุกวันนี้  จำนวนสิ่งมีชีวิตที่เรารู้จักทั้งหมด  ราว ๑๐ เปอร์เซ็นต์ อาศัยอยู่ในเกาะมาร์ดากัสกา  ซึ่งครอบคลุมถึงสายพันธุ์ต้นไม้ที่มีมากกว่าในอเมริกาเหนือราวห้าเท่า!
                    แต่แม้จะมีความหลากหลายทางสายพันธุ์  ระบบนิเวศของเกาะยังคงมักมีสภาพเปราะบาง  โกลน้อยๆ ใบนี้  จึงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการมีมนุษย์เข้าไปอาศัยในไบโอเฟียร์แห่งนี้

วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2559

เบซาล เมตาโบลิซึม คืออะไร?

วันที่ ๑๐ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : อำนาจ  เจริญศิลป์   การ์ตูนวิทยาศาสตร์  บริษัท สำนักพิมพ์บรรณกิจ ๑๙๙๑ จำกัด
          หน้า ๒๙- ๓๘


เรื่อง เบซาล เมตาโบลิซึม  คืออะไร ?


เบซาล เมตาโบลิซึม  คืออะไร ?

                    เบซาล เมตาโบลิซึม (basal metabolism)  คือ  ปริมาณความร้อนที่ออกมาจากร่างกาย  ซึ่งวัดเป็นคาลอรี่ใหญ่ต่อนาที  และต้องวัดในขณะที่ร่างกายกำลังพักผ่อน  ทั้งก่อนรับประทานอาหารด้วย  มิฉะนั้นออกซิเจนที่ได้จากการหายใจอย่างแรงและที่ใช้ในการย่อยอาหาร  จะทำให้ปริมาณความร้อนเพิ่มขึ้นในทางปฏิบัติ  เราใช้เครื่องมือที่เรียกว่า  เครื่องมือวัดคาลอรี่จากลมหายใจ  ซึ่งวัดจำนวนออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไปหนึ่งหน่วยเวลา  แล้วเปลี่ยนมาเป็นหน่วยคาลอรี่ใหญ่ต่อนาที  อีกทีหนึ่ง

                    ถ้าเราเป็นคนช่างสังเกต  เราจะรู้สึกว่าห้องที่เรานั่งหรือเดินอยู่นั้นมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ  ยิ่งคนมากขึ้นยิ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้น  ทั้งนี้เป็นผลมาจากการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย  คนเดินช้าๆ ในห้องจะให้ความร้อนได้ประมาณ ๒๐๐ คาลอรี่ใหญ่ (๒๐๐ กิโลคาลอรี่)  ต่อชั่วโมง หรือ  ๘๐๐  ปอนด์องศาฟาเรนไฮต์ต่อชั่วโมง  นับว่าเป็นปริมาณความร้อนที่ค่อนข้างสูงทีเดียว  แม้ในวันที่มีอากาศหนาวที่สุด  ถ้าเราใช้คน  ๑๒ -  ๑๓  คน  เดินรอบๆห้อง  อาจจะทำให้ห้องนั้นอุ่นได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องทำความร้อน  จึงมีปัญหาเกิดขึ้นว่า  ความร้อนเหล่านี้มาจากไหน

                    ความร้อนเหล่านี้มาจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย  เช่น  การทำงานของตับ  ไต  การเต้นของหัวใจ  การหายใจตามปกติ  สิ่งเหล่านี้จะต้องดำเนินไปอยู่ตลอด  ๒๔ ชั่วโมง  การทำงานเหล่านี้ต้องการพลังงาน  พลังงานนี้เกิดขึ้นได้ในร่างกาย  โดยปฏิกิริยาของออกซิเจนที่หายใจเข้าไปกับอาหารที่เรารับประทาน  ผลสุดท้ายของปฏิกิริยาจะให้ความร้อนออกมา  วีธีการแบบนี้เรียกว่า  เมตาโบลิซึม (metaboism)

ทำไมการจำหน้าคนจึงง่ายกว่าการจำชื่อ ?

วันที่ ๑๐ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : อำนาจ  เจริญศิลป์   การ์ตูนวิทยาศาสตร์  บริษัท สำนักพิมพ์บรรณกิจ ๑๙๙๑ จำกัด
          หน้า ๑- ๑๒


เรื่อง ทำไมการจำหน้าคนจึงง่ายกว่าการจำชื่อ ?


ทำไมการจำหน้าคนจึงง่ายกว่าการจำชื่อ ?
                    
                    วิธีการจำนั้น นักจิตวิทยากล่าวว่ามี ๓ แบบด้วยกัน  คือ
     ๑.  การระลึกได้  ขณะที่เราพูดว่า  " ฉันไม่สามารถจะจำคำตอบได้ "  นั้นหมายถึงเราไม่สามารถจะนึกขึ้นได้

     ๒.  การจำได้   ขณะที่เราดูรายการโทรทัศน์อยู่  เรารู้สึกคุ้นกับรายการนั้นเพราะได้แสดงเป็นครั้งที่ ๒ นั้นหมายถึงเราสามารถจำการแสดงครั้งก่อนได้

     ๓.  การเรียนซ้ำ  เมื่อเราพยายามศึกษาภาษาต่างประเทศให้เข้าใจถ่องแท้ซึ่งเราเคยเรียนมาแล้ว  สมัยเมื่อเราอยู่โรงเรียนมัธยมและก็ลืมมาเป็นเวลานานแล้ว คือ พยายามเรียนซ้ำของเก่าเพื่อให้เรามีความจดจำดีขึ้นนั่นเอง


               ความสามารถใน  " การจำได้ "  เราวัดได้โดยการถามคำถามให้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่ได้เคยศึกษามาแล้ว  เราอาจสับสนเกี่ยวกับสิ่งที่มีเรื่องราวคล้ายๆกัน
               ความสามารถใน  " การระลึกได้ " เราสามารถทดสอบได้โดยการตั้งคำถามให้ตอบจากเรื่องราวต่างๆ ที่เคยเรียนรู้มาแล้ว จากส่วนลึกของความทรงจำ
               ความสามารถใน  " การเรียนซ้ำ " วัดได้โดยการวัดระยะเวลาที่ใช้ในการเรียนซ้ำ เปรียบเทียบกับเวลาที่ใช้ในการเรียนเป็นครั้งแรก

                         การจำทั้ง ๓ แบบนี้ "การระลึกได้"  เป็นสิ่งที่ฝึกให้เกิดขึ้นในตัวบุคคลได้ยากมาก  แม้เราไม่สามารถจะระลึกถึงคำตอบที่ถูกต้องได้  แต่เราอาจยังจำเหตุการณ์หรือจำสิ่งที่พอจะทดแทนกันได้  ดังที่เราพูดว่า  "การจำหน้าง่ายกว่าการจำชื่อ"  เราลืมคิดไปว่า  "เราเพียงแต่จำหน้าได้แต่การจำชื่อนั้น  แท้ที่จริงแล้วเราจะต้องพยายามระลึกถึงชื่อของคนๆ นั้น  ซึ่งซ่อนอยู่ในความทรงจำของเราเป็นล้านๆ ชื่อด้วยกัน  บางทีก็นึกไม่ออก  ถ้าเราถามใครสักคนหนึ่งให้บอกชื่อคนๆ หนึ่งที่รู้จักจากกลุ่มชื่อกลุ่มหนึ่ง  กับให้บอกเค้าหน้าของคนๆ นั้น  แล้วเขาจะกล่าวว่า  "การจำชื่อง่ายกว่าการจำหน้า"  เพราะเค้าหน้าของคนนั้นจะซ่อนอยู่ในกลุ่มเค้าหน้าของชนทั้งกลุ่มนั้น จนอธิบายไม่ถูก "

ต่อมไธมัส

วันที่ ๑๐ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : ครองแผน  ไชยธนะสาร   ฉลาดใช้สมอง   พิมพ์ครั้งที่ ๓  สำนักพิมพ์ เดลฟี  หน้า ๔๘ - ๕๗


เรื่อง ต่อมไธมัส


ต่อมไธมัส
          ตั้งอยู่บริเวณกลางหน้าอกใต้กระดูกต้นคอ  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกประเภทก็จะมีต่อมไธมัสที่ว่า
          เวลาที่คุณเคาะบริเวณต่อมไธมัสนี้ประมาณ ๑๕ ถึง ๒๐ ครั้ง  จะช่วยให้คุณสามารถเปิดสวิตช์ระบบร่างกายของคุณได้  แต่ก่อนหน้านั้นเราคิดกันว่าต่อมไธมัสนี้ไม่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย  แต่ปัจจุบันนี้ได้เป็นที่ยอมรับแล้วว่าต่อมไธมัสนี้มีความเกี่ยวโยงกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย  เมื่อไหร่ก็ตามที่ต่อมไธมัสนี้ถูกเคลื่อนย้ายหรือถูกทำลาย  ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและเซลล์ซึ่งเป็นตัวป้องกันการติดเชื้อ  ก็จะด้อยสมรรถภาพลงไปด้วย

  • พัฒนาการรับรู้ทางจักษุประสาท
                    ข้อมูลที่รับเข้ามาทางดวงตาข้างซ้ายจะถูกส่งผ่านไปยังสมองซีกขวาและข้อมูลที่ได้รับผ่านดวงตาข้างขวาก็จะถูกส่งผ่านไปยังสมองซีกซ้าย ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นกระบวนการของการทำงานประสานกันของระบบประสาทที่มีความซับซ้อนอยู่มากทีเดียว

  • การรับรู้ข้อมูลผ่านทางสายตาจะถูกระงับไปเมื่อ

     ๑.  ข้อมูลนั้นอาจจะไม่ส่งผ่านช่องทางเดิมก็จริง แต่มันไม่สามารถผ่านเข้าไปยังส่วนหนึ่งส่วนใดของสมองตามที่มันควรจะเป็น 
     ๒.  เมื่อข้อมูลไม่สามารถส่งผ่านได้ มันจึงถูกส่งไปยังสมองข้างเดียวกันกับตาที่ใช้รับข้อมูล

วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2559

กระบวนการทำงานของสมอง

วันที่ ๑๐ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : ครองแผน  ไชยธนะสาร   ฉลาดใช้สมอง   พิมพ์ครั้งที่ ๓  สำนักพิมพ์ เดลฟี  หน้า ๑๓ - ๒๒


เรื่อง กระบวนการทำงานของสมอง

ระบบสมอง
          ระบบสมองของเราคล้ายคลึงกับระบบไฟฟ้าในโรงงาน  ในโรงงานนั้นมีพลังงานไฟฟ้าสะสมไว้ใช้เช่นเดียวกับร่างกายคนเรา  และในโรงงานนั้นก็จะมีตัวตัดไฟที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันการใช้กระแสไฟฟ้ามากเกินไป  เมื่อไหร่ก็ตามที่ถึงจุดที่กำลังไฟฟ้าที่จะถูกใช้มากเกินไป  ซึ่งอาจก่อให้เป็นอันตายได้ ตัวตัดวงจรไฟฟ้าก็จะงดจ่ายกระแสไฟหรือตัดกระแสไฟลง  เช่นเดียวกัน  ร่างกายของคนเราก็จะมีตัวตัดหรือตัวลดพลังงานที่มาจากบริเวณที่มีความตึงเครียดอยู่  นั่นก็หมายความว่า  ในบริเวณนั้นจะไม่มีการเคลื่อนไหว  หรือการทำงาน

กระบวนการทำงานของสมอง
          สมองของเราแบ่งออกได้เป็นสองส่วน  คือ   สมองซีกซ้าย   และสมองซีกขวา  โดยสมองสองส่วนนี้จะถูกเชื่อมต่อกันโดยเส้นใยนับล้านๆเส้น  ซึ่งเรียกว่า  คอร์ปัส คอลโลซัม (corpus callosum)  สมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่ควบคุมซึกขวาของร่างกาย และสมองซีกขวาจะควบคุมร่างกายทางซีกซ้าย  โดยสมองแต่ละซีก จะทำหน้าที่ทางด้านการรับรู้ข้อมูลไม่เหมือนกัน

สมองซีกซ้าย
  • ตรรกวิทยา / การวิเคราะห์
                    กระบวนการรับรู้เรียนรู้ข้อมูลจะเป็นไปอย่างมีเหตุผล  มีหลักการและอยู่ในโลกของความจริง  สมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่ในการระลึกถึงข้อมูลเก่าๆ  ข้อมูลต่างๆ จะแตกย่อยกระจัดกระจายกันไม่ปะติดปะต่อเป็นเรื่องเดียวกัน

สมองซีกขวา
  • การรวบรวมให้เป็นเรื่องเดียว
                    สมองซีกขวาจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเรื่องราวต่างๆ และจัดระเบียบจนออกมาเป็นภาพลักษณ์ หรือมโนภาพ  หรือหลักการที่สมบูรณ์แบบเพียงประเด็นเดียว
  • การเรียงเป็นลำดับ
                    ข้อมูลที่เกิดขึ้นจะผ่านกระบวนเพียงครั้งละหนึ่งเรื่องเรียงตามลำดับกันไปเพราะสมองซีกซ้ายนี้  ไม่สามารถผ่านกระบวนการที่จะรับเรื่องสองเรื่องได้ในเวลาเดียวกัน
  • คู่ขนาน
                    สมองซีกขวามีความสามารถในการปฏิบัติกระบวนการรับรู้หลายๆเรื่องได้ในเวลาเดียวกัน  และยังจัดออกมาในแบบรูปที่สมบูรณ์ได้อีกด้วย
  • การรวมศูนย์
                    สมองซีกซ้ายจะทำงานมุ่งไปในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น  โดยมันจะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์  หรือเชื่อมโยงเรื่องหลายๆ เรื่องเข้าด้วยกันได้
  • การแพร่กระจาย
                    สมองซีกขวาสามารถมีกระบวนการรับรู้ข้อมูลหลายๆเรื่องได้ในเวลาเดียวกันอีกทั้งยังสามารถรวบรวมและเรียบเรียงเรื่องต่างๆเหล่านั้นเข้าเป็นเรื่องเดียวกันอาจจะพูดได้ว่าการทำงานของสมองซีกขวานี้จะมุ่งไปในเรื่องของภาพรวมมากกว่าจะเจาะเข้าไปในรายละเอียดทีละเรื่อง
  • ถ้อยคำ
                    สมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่รับฟัง และส่งสารออกมาเป็นคำพูด โดยจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของตัวเลขและการคำนวณ
  • จักษุภาพ / ระวางที่(ว่าง)
                    ทำหน้าที่รับและส่งภาพต่างๆ สมองซีกขวาจะมุ่งไปในเรื่องของสารที่เป็นภาพ และในเรื่องเกี่ยวกับดนตรีและความคิดสร้างสรรค์
                    สมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่ในเรื่องที่ถูกปฏิบัติซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องโดยที่สมองซีกขวาจะรับรู้ถึงความคล้ายคลึงของลักษณะของเรื่องต่างๆมากมาย แต่มันจะไม่ให้ความสนใจถึงเรื่องหน้าที่และประโยชน์ของเรื่องต่างๆเหล่านั้น
                    สมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่ควบคุมร่างกายทางซีกขวา ตลอดจนกิจกรรมที่เกิดขึ้นกับร่างกายซีกซ้าย  เมื่อสมองทั้งสองซีกถูกเชื่อมเข้าด้วยกัน  ร่างกายทั้งสองซีกก็จะทำงานประสานร่วมกันไปด้วย  และในทางตรงกันข้ามเมื่อเราใช้ร่างกายทั้งสองซีกทำงานร่วมกัน  นั่นก็คือ  เราจะต้องเชื่อมหรือประสานสมองทั้งสองซีกเข้าด้วยกัน

อันตรายจากวิตามิน

วันที่ ๙ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : นวลจิตต์  เชาวกีรติพงศ์ สารพิษในอาหาร   พิมพ์ครั้งที่ ๑  บริษัท โรงพิพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด              หน้า ๖๙ - ๗๘


เรื่อง อันตรายจากวิตามิน


          วิตามินเป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน แต่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง  หลายคนเข้าใจว่าการได้รับวิตามินมากๆ  จะเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย หรือ เข้าใจว่าร่างกายจะสามารถรับวิตามินต่างๆ ได้ไม่จำกัดจำนวน  และจะนำไปใช้ประโยชน์ได้หมด  บางคนไม่ใช่แพทย์แต่สามารถวินิจฉัยได้ว่า  คนข้างเคียงมีภาวะร่างกายไม่ปกติและต้องการวิตามินเสริม  เช่น  เห็นคนผอมก็บอกว่าต้องให้วิตามินบำรุง  หรือบางคนเชื่อว่ายาวิตามินสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้   เช่น  วิตามินเอ รักษาสิวและศีรษะล้านได้  หรือวิตามินอี  ช่วยชะลอความแก่ได้ช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใส  หนุ่มสาวอยู่เสมอ  แล้วเลยหาซื้อวิตามินต่างๆ  มารับประทานกันตามใจชอบ

          ขอให้ผู้อ่านรู้ด้วยว่า  การกระทำดังกล่าวนั้นผิดอย่างยิ่ง  เพราะร่างกายเราต้องการวิตามินต่างๆ  ในปริมาณที่พอเหมาะพอดี  ถ้าได้รับมากเกินไปก็จะเป็นอันตราย  ดังนี้

  • ยาวิตามินเอ
  ทำให้ตับโต  มีอาการซีด  กระดูกผุ  ปวดศีรษะ  ตาฝ้าฟาง  ผมร่วง  ปวดตามกล้ามเนื้อ  ริมฝีปากแตก  เลือดกำเดาไหล

  • ยาวิตามินซี
  ถ้ากินเข้าไปมากอาจเป็นสาเหตุทำให้ท้องร่วง  และเป็นนิ่วในไตได้

  • ยาวิตามินดี
  ทำให้เนื้อเยื่อที่ไต หลอดเลือดแดง  หัวใจ  และปอดถูกทำลาย

  • ยาวิตามินอี
  ทำให้ปวดหัว  คลื่นไส้  อาเจียน  อาจจะมีอาการปวดกระดูกได้

  • ไนอาซีน (วิตามินบี ๓ )
  ทำให้เกิดผื่นคันตามผิวหนัง  มีอาการท้องร่วง  

เมื่อรู้เช่นนี้แล้วคงไม่มีใครทำตัวเป็นหมอจัดวิตามินต่างๆ ให้ตัวเอง หรือ คนข้างเคียงกินตามใจชอบ

สารปลอมปนในอาหาร

วันที่ ๙ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : นวลจิตต์  เชาวกีรติพงศ์ สารพิษในอาหาร   พิมพ์ครั้งที่ ๑  บริษัท โรงพิพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด              หน้า ๕๑ - ๖๐

เรื่อง สารปลอมปนในอาหาร

          สารปลอมปนมีความต่างกับสารปรุงแต่งตรงที่วัตถุประสงค์ของผู้ผลิตอาหาร สารปรุงแต่งใส่ลงไปเพื่อปรุงแต่ง รส กลิ่น สี ของอาหารให้น่ารับประทาน เป็นความตั้งใจที่จะเพิ่มคุณค่าของอาหาร แต่การใส่สารปลอมปนลงไปเพื่อการหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว เพราะสารที่ใส่ปลอมปนลงไปนั้นจะต้องเป็นสารที่มีราคาถูก ลดต้นทุนการผลิต ทำให้ได้กำไรมากๆ โดยไม่คำนึงว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้บริโภคบ้าง นอกจากสารที่ปลอมปนนั้นจะไปลดคุณภาพอาหารแล้ว ยังเป็นสารที่เข้าข่ายสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สารปลอมปนที่กล่าวถึงต่อไปนี้  ได้แก่  ผงชูรสปลอม น้ำส้มสายชูปลอม น้ำปลาปลอม และการใช้เมธานอลในอาหารแทนเอธานอล

ผงชูรสปลอม
          ผงชูรสปลอม หมายถึง ผงชูรสที่มีโมโนโซเดียมกลูทาเมตน้อยกว่าร้อยละ ๙๕ ส่วนที่เหลือเป็นสารปลอมปนอื่นๆ ได้แก่ เกลือแกง น้ำตาล โซเดียมเมตาฟอสเฟต และบอแรกซ์  บอแรกซ์เป็นสารพิษมีอันตรายต่อไตและกระเพาะอาหาร ทำให้อาเจียน มีผื่นแดงขึ้นที่ผิวหนัง ความดันเลือดต่ำกว่าปกติ บางคนอาจมีอาการแพ้มากๆ จนถึงหมดสติและเสียชีวิตได้ ส่วนโซเดียมเมตาฟอสเฟต ซึ่งปกติใช้เป็นสารล้างหม้อน้ำในโรงงาน เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้ท้องเดินอย่างรุนแรง
          กาารตรวจสอบผงชูรสทำได้ง่ายๆ โดยการตรวจสอบทางกายภาพ หรือการสังเกตลักษณะภายนอกและการตรวจสอบทางเคมีอย่างง่าย ดังนี้

          การตรวจสอบทางกายภาพ   
ผงชูรสแท้หรือมีการปลอมปน อาจจะสังเกตได้จากรูปผลึกโดยใช้กล้องจุลทรรศน์หรือแว่นขยาย
  • ผลึกผงชูรส จะมีลักษณะเป็นแท่งยาว คอดตรงกลาง หัวท้ายโตไม่เรียบคล้ายท่อนกระดูก มองดูทึบไม่มีความมัน ไม่มีสี เมื่อชิมจะมีรสคล้ายเนื้อต้ม
  • ผลึกโซเดียมเมตาฟอสเฟต จะเป็นรูปแท่งยาวเรียบเสมอกัน ไม่มีสี มองดูจะใส และมันวาวคล้ายกระจก เมื่ออยู่ปนกันจะสะท้อนความวาวให้เห็นชัด มีรสเฝื่อน
  • ผลึกบอแรกซ์ มีลักษณะแตกต่างออกไปมาก คือ จะเป็นก้อนเล็กๆ ขุ่นทึบ จึงทำให้ผงชูรสที่เป็นเกล็ดมองเห็นการปลอมปนได้ง่ายกว่าที่เป็นผงละเอียด
          การตรวจสอบทางเคมีอย่างง่าย
     การตรวจสอบบอแรกซ์

     ๑. ละลายผงชูรสลง ในน้ำเล็กน้อย
     ๒.  จุ่มกระดาษขมิ้น ลงไปถ้าเป็นผงชูรสแท้กระดาษจะไม่เปลี่ยนสี แต่ถ้ามีบอแรกซ์ปน กระดาษจะเปลี่ยนเป็นสีแดงทันที
               การเตรียมกระดาษขมิ้น เตรียมได้โดยใช้ผงขมิ้นเหลือง ๑ ช้อนชา ละลายในแอลกอฮอล์หรือในสุราขาว ๑๐ ช้อนชา จะได้น้ำยาสีเหลือง จุ่มกระดาษทีขาวที่ดูดซึมน้ำได้ หรือผ้าขาวลงไป แล้วผึ่งให้แห้ง ก็จะได้กระดาษขมิ้นตามต้องการ  วิธีการนี้เป็นวิธีการเดียวกับการทดสอบสารบอแรกซ์ในเรื่งสารปรุงแต่งในอาหารที่ได้กล่าวไว้

     การทดสอบโซเดียมเมตาฟอสเฟต
     ๑. ละลายผงชูรสลงในน้ำเล็กน้อย
     ๒.  เทสารละลายปูนขาวผสมกรดน้ำส้มที่กรองใสแล้วลงไป ๑ ช้อนชา  ถ้ามีโซเดียมเมตาฟอสเฟตอยู่จะเกิดตะกอนขุ่นขาวขึ้น แต่ถ้าเป็นผงชูรสแท้น้ำยาจะคงใสเช่นเดิม

แพ้ยา

วันที่ ๙ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ โรคภูมิแพ้ในเด็ก : สาเหตุและการป้องกัน   พิมพ์ครั้งที่ ๑
           บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด  หน้า ๓๐ - ๓๙


เรื่อง แพ้ยา

พบบ่อยแค่ไหน
          แพ้ยาเป็นปัญหาที่พบบ่อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังนิยมรับประทานยารักษาอาการต่างๆ หรือรักษาโรค และมียาใหม่ๆ มากมายหลายชนิด จึงมีโอกาสที่จะแพ้ยาสูงขึ้น ผู้ป่วยที่แพ้อาจจะไม่เคยแพ้ยามาก่อน เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หรือเคยเกิดอาการแพ้ แต่ไม่รุนแรง เช่น เกิดผื่นัคน แต่ภายหลังได้รับยาชนิดเดิมซ้ำ กระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้นจนเกิดอันตายได้

โรคนี้มีอาการอย่างไร
          แพ้ยาแสดงออกที่อวัยวะต่างๆ ได้ทุกส่วน อาการทางผิวหนังเป็นอวัยวะที่พบบ่อยที่สุด เป็นผื่นที่เกิดจากยา อาจแสดงออกในลักษณของโรคผิวหนังแบบต่างๆ เช่น
  • ผื่นลมพิษ เป็นปื้นนูนแดง คัน แต่ละผื่นจะยุบหายไปภายใน ๒๔ ชั่วโมงโดยไม่มีร่องรอยเหลืออยู่ ผื่นเป็นๆหายๆ บางครั้งอาจมีปากหรือหนังตาร่วมด้วย
  • ผื่น maculopapular rash พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาผื่นแพ้ยา เป็นจุดหรือตุ่มแดงๆเล็กๆ ขึ้นทั่วตัว
  • ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ผิวหนังเป็นตุ่มอักเสบหรือปื้นแดงๆหรือเป็นตุ่มน้ำเล็กๆ ผสมอยู่ในผื่นแดงด้วย เกิดเฉพาะที่ หรือทั่วตัวก็ได้แล้วแต่ยาที่เป็นสาเหตุ มักมีอาการคันมาก
  • ผื่นผิวหนังทั่วตัวแดงลอกเป็นขุย (exfoliative dermatitis) เป็นผื่นแดงทั่วตัว มีขุยลอกออก คัน
  • ผื่นขึ้นที่เดิมทุกครั้งที่ได้รับยานั้น (fixed drug eruptions) เป็นผื่นบวมแดงรูปร่างกลมหรือรี ขอบชัด เวลาหายจะกลายเป็นสีน้ำตาลเทาหรือสีออกม่วง ลักษณะพิเศษของผื่นแพ้ยาชนิดนี้คือเกิดซ้ำที่เดิมทุกครั้งที่ได้รับยาที่เป็นต้นเหตุ
  • ผื่นแบบตุ่มน้ำพอง มีหลายชนิด บางชนิดเป็นทั้งที่ผิวหนังและเยื่อบุต่างๆ เช่น ที่ตา ในปาก ชนิดรุนแรง ผิวหนังและเยื่อบุจะมีเนื้อตายและหลุดออกเป็นรอยแผลถลอกเป็นบริเวณกว้างและรุนแรง ถ้าสงสัยว่ามีผื่นชนิดนี้ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว
นอกจากผื่นผิวหนังแล้ว ผู้ป่วยอาจมีไข้ มีอาการตามระบบต่างๆ เช่น ปวดท้อง ท้องร่วง อาเจียน หอบเหนื่อย ใจสั่น ช็อก ซึม ชัก ตับหรือไตวายจากผลของยาได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการในระบบอื่นๆ โดยไม่มีผื่นผิวหนังเลยก็ได้


แพ้ยาควรทำอย่างไร 
     ๑.  หลังรับประทานยา ถ้าเกิดอาการผิดปกติ เช่น มีผื่นที่ผิวหนังให้หยุดยาที่สงสัยว่าจะเป็นสาเหตุทันที
     ๒.  ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง
     ๓.  ถ้าทราบว่าแพ้ยาอะไร ให้จดบันทึกไว้ และหลีกเลี่ยงการใช้ซ้ำ
     ๔.  แจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบว่าแพ้ยาอะไรบ้างทุกครั้งเมื่อเจ็บป่วย หรือจำเป็นต้องได้รับยา

ทำความรู้จักกับโรคภูมิแพ้

วันที่ ๙ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ โรคภูมิแพ้ในเด็ก : สาเหตุและการป้องกัน   พิมพ์ครั้งที่ ๑  
           บริษัท บียอนด์ เอ็นเทอร์ไพรซ์ จำกัด  หน้า ๑ - ๑๐


เรื่อง ทำความรู้จักกับโรคภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้คืออะไร
          โรคภูมิแพ้ เกิดจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ (allergen) ที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย  ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสทางผิวหนัง การรับประทาน การสูดดม  การฉีดเข้ากล้ามหรือเข้าหลอดเลือด หรือถูกแมลงกัดต่อย ล้วนสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ที่สำคัญคือ จะเป็นเฉพาะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ คนที่ไม่เป็นโรคนี้จะไม่มีปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ เท่าที่มีรายงานในโลกนี้มีสารก่อภูมิแพ้จำนวนมากกว่า ๔,๐๐๐ ชนิด อย่างไรก็ตามมีสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยในไทย ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสรพืช รังแคสัตว์เลี้ยง สารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง อาหารทะเล ข้าวสาลี โดยทั่วไปสามารถจำแนกสารก่อภูมิแพ้ได้เป็น ๒ กลุ่ม  ได้แก่
  • สารก่อภูมิแพ้ในบ้าน  เช่น  ไรฝุ่น แมลงสาบ ฝุ่น เชื้อราในอากาศ รังแคสัตว์เลี้ยง พวกแมว สุนัข
  • สารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน  เช่น  ละอองเกสรหญ้า ฝุ่นละอองและควันตามท้องถนน มลพิษทางอากาศ ควันท่อไอเสียจากรถ ซึ่งเป็นสารระคายเคือง และกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น
โรคภูมิแพ้มีกี่ชนิด
          โรคภูมิแพ้สามารถเกิดได้กับอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย  บางคนเกิดเฉพาะที่อย่างเดียว บางคนเกิดอาการในหลายๆ อวัยวะพร้อมๆ กัน แต่ผู้ป่วยมักมีอาการเรื้อรัง มีอาการแสดงได้หลายแบบ โรคภูมิแพ้ที่สำคัญในเด็ก  ได้แก่

          ๑.  โรคหืด (asthma) เกิดจากการที่ทางเดินหายใจมีการบวม หลอดลมตีบแคบ เมื่อถูกกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้ที่สูดเข้าทางเดินหายใจทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ในหลอดลมและปอด  ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจเสียงดัง "วี้ด" หอบ แน่นหน้าอก ผู้ป่วยจะมีหลอดลมที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมหรืออารมณ์ ร้อนไป หนาวไป ออกกำลังกาย หักโหมมากไป หรือการติดเชื้อในระบบหายใจ
          ๒.  โรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ (allergic rhinitis) หรือมักเรียกว่า โรคแพ้อากาศ มีอาการส่วนใหญ่ในจมูก คัดจมูก จาม คัน น้ำมูกไหลใสๆ แทบทุกวัน เป็นๆหายๆ เรื้อรัง บางคนมีปัญาภูมิแพ้ที่ตาร่วมด้วยมีอาการคันตา น้ำตาไหล เด็กบางคนบ่นว่าแสบตา
          ๓.  โรคผื่นผิวหนังอีกเสบภูมิแพ้ (atopic dermatitis) ผิวหนังมีอาการคัน แดง เป็นผื่นเรื้อรัง เป็นๆหายๆ ตามแก้ม คอ บริเวณใบหู พบบ่อยในเด็กเล็ก สำหรับในเด็กโตจะพบผื่นตามข้อพับแขน ขา ข้อเท้า อาการผื่นคันจะเห่อมากขึ้น เมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น อากาศร้อน เหงื่อ ออกมาก การเกาที่ผื่นมากๆ ก็กระตุ้นได้
          ๔.  ผื่นลมพิษ (urticaria) ผิวหนังมีอาการคัน บวม เป็นผื่นนูนหนา ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา พิษจากแมลงกัดต่อย ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย บางรายไม่ทราบสาเหตุ
          ๕.  แพ้อาหาร (food allergy) เป็นปฏิกิริยาการแพ้ส่วนประกอบในอาหาร ส่วนใหญ่เป็นโปรตีน แสดงอาการแพ้ได้หลายระบบ ที่พบบ่อย ได้แก่  ระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด อาการแพ้ทางผิวหนัง เช่น ผื่นผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ ลมพิษ อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจดังครืดคราด เป็นต้น มีผู้ป่วยบางรายแพ้อาหารอย่างรุนแรง (anaphylaxis) ทำให้ระบบอวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลวจนเสียชีวิตได้
          ๖.  เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic conjunctivitis) มีอาการแสบตา คันตา น้ำตาไหล ขยี้ตาบ่อย จนขอบตาช้ำ สีคล้ำ มักพบร่วมกับโรคเยื่อบุจมูกจมูกอักเสบภูมิแพ้

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2559

การอาบน้ำร้อนและเย็นที่แขนหรือขา

วันที่ ๘ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : เฮอร์มิเนีย ดิ กัสแมน - ลาเดียน น้ำวิธีรักษาโรคอย่างมหัศจรรย์   สำนักพิมพ์ข่าวประเสริฐ
           หน้า ๔๔ - ๕๓


เรื่อง การอาบน้ำร้อนและเย็นที่แขนหรือขา

ความหมาย
          การแช่แขนหรือขาลงในน้ำร้อนและน้ำเย็นสลับกัน

ผล
          ๑. ช่วยให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นมากขึ้น
          ๒. ช่วยให้แผลเรื้อรังหายเร็วขึ้น
          ๓. ช่วยให้ของเสียถูกขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น
          ๔. ช่วยให้หายบวมหลังจากได้รับอันตราย
          ๕. ช่วยให้การทำลายและการขับพิษของเชื้อโรคดีขึ้น
          ๖. ช่วยให้กระดูกหักติดกันเร็วขึ้น

ใช้เมื่อไร
          ๑. ๔๘ ชั่วโมงภายหลังจากได้รับอันตราย เคล็ด
          ๒. ปวดศรีษะ
          ๓. การไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดดำไม่ดี ทำให้เท้าเย็น
          ๔. แผลติดเชื้อที่บวม
          ๕. หลังจากที่เอาเฝือกออก ในรายที่ข้อแข็งหรือบวม
          ๖. บวมเนื่องจากเกิดการกระทบกระแทก ฟกช้ำ

ของใช้ที่ต้องการ
          ๑. กระป๋องใหญ่ หรือปิ๊บน้ำมันก๊าส ๒ ใบ
          ๒. กระป๋องเล็กๆ ๑ ใบ สำหรับตักน้ำออกจากระป๋องใหญ่
          ๓. ผ้าสะอาดสำหรับเช็ดเท้า
          ๔. น้ำเดือด ๑ กา
          ๕. น้ำแข็ง หรือ น้ำเย็นๆ
          ๖. น้ำต้มใบฝรั่งสำหรับใช้กับแผลติดเชื้อ (ใช้น้ำเกลือแทนถ้าไม่มีน้ำใบฝรั่ง ส่วนผสมเกลือครึ่งถ้วยต่อน้ำ ๓ แกลลอน)

วิธีทำ
          ๑. ต้มน้ำ
          ๒. ถ้ามีแผลแก้ผ้าพันแผลออก
          ๓. เทน้ำร้อนลงใส่ในกระป๋องใหญ่ประมาณ ๑ ใน ๔ ของกระป๋อง  น้ำจะต้องร้อนจัดพอที่จะทนได้  อีกกระป๋องหนึ่งใส่น้ำเย็นผสมน้ำแข็งน้ำในกระป๋องจะต้องมากพอที่จะท่วมบริเวณที่แช่  แต่ไม่ให้ไหลล้นออกมานอกกระป๋อง
          ๔. ให้ผู้ป่วยนั่งเก้าอี้  เอาเท้าหรือแขนแช่ลงในกระป๋องน้ำร้อนนาน ๓ นาที
          ๕. เอาขาหรือแขนออกจากระป๋องน้ำร้อน  แล้วแช่ลงในกระป๋องน้ำเย็นทันที แช่นาน ๑ นาที
          ๖. แช่น้ำร้อนและเย็นสลับกันดังนี้นาน ๒๕ นาที รวมแล้วจะแช่ในน้ำร้อน ๖ ครั้ง และน้ำเย็น ๖ ครั้ง  ครั้งสุดท้ายให้จบลงด้วยการแช่น้ำเย็น
          ๗. เช็ดเท้าหรือแขนให้แห้ง เฉพาะอย่างยิ่งระหว่างนิ้วเท้าและนิ้วมือ
          ๘. ถ้าข้อเท้าแพลงเมื่อแช่น้ำเสร็จแล้วให้พันผ้าไว้  ถ้าเป็นแผลก็ใส่ยาให้ตามแพทย์สั่งแล้วปิดแผลไว้
          ๙. ทำดังนี้ซ้ำอีกวันละ  ๓ - ๔ ครั้ง จนกว่าจะคอยยังชั่ว

การถูด้วยแอลกอฮอล์

วันที่ ๘ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : เฮอร์มิเนีย ดิ กัสแมน - ลาเดียน น้ำวิธีรักษาโรคอย่างมหัศจรรย์   สำนักพิมพ์ข่าวประเสริฐ
           หน้า ๔ - ๑๓


เรื่อง การถูด้วยแอลกอฮอล์

ความหมาย
          เป็นการใช้มือถูตามร่างกายของผู้ป่วยด้วยแอลกอฮอล์

ผล
          ๑. กระตุ้นเส้นโลหิต
          ๒. ลดไข้
          ๓. ทำให้เหงื่อออกน้อยลง
          ๔. ป้องกันการหนาวสั่น
          ๕. ผู้ป่วยที่อาบน้ำไม่ได้ ควรถูด้วยแอลกอฮอล์จะทำให้รู้สึกสดชื่น
          ๖. ป้องกันผิวหนังบริเวณที่ถูกกดทับ

ของใช้ที่ต้องการ
          ๑. แอลกอฮอล์ที่ใช้สำหรับทำความสะอาด ๕๐ - ๗๐ %
          ๒. ผ้าเช็ดตัว
          ๓. ผ้าสำหรับคลุมตัวผู้ป่วยหรือผ้าห่ม

วิธีทำ
          ๑. ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วยออกให้หมด คลุมตัวด้วยผ้าคุมหรือผ้าห่ม
          ๒. เปิดแขนข้างหนึ่ง รองแขนนั้นด้วยผ้าเช็ดตัว
          ๓. เทแอลกอฮอล์ใส่ในมือผู้ทำเล็กน้อย
          ๔. ถูแอลกอฮอล์ลงบนแขนผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยยกแขนขึ้น ใช้สองมือยกจากต้นแขนขึ้นมาปลายแขน แล้วถูกลับลงไปที่ต้นแขน โดยถูเป็นวงกลม ค่อยๆ เลื่อนมือลงมาตามแขน
          ๕. ใช้สองมือถูเบาๆ ขึ้นลงแบบนี้จนกระทั่งผิวหนังแห้ง
          ๖. ถ้าต้องการให้ผิวหนังเย็น ใช้สองมือทาแอลกอฮอล์ แล้วลูบเร็วๆ ให้ทั่วแขนด้วยมือทีละข้าง วิธีนี้จะช่วยให้แอลกอฮอล์ระเหยไปเร็วสุดท้ายจบด้วยการใช้สองมือลูบเบาๆ จากไหล่ขึ้นมาที่มือ ๓ ครั้งต้องแน่ใจว่าผิวผู้ป่วยแห้งดี
          ๗. ทำวิธีเดียวกันนี้ที่แขนอีกข้างและขาด้วย
          ๘. สำหรับบริเวณหน้าอก ใช้สองมือถูยาวๆ ลงมาจากไหล่ ถึงตรงกลางหน้าอก แล้วถูไปรอบบริเวณเต้านม ไปจบที่ด้านข้างของหน้าอก
          ๙. ถูบริเวณหน้าอกแบบนี้ ๓ - ๕ ครั้ง หรือจนกระทั่งแอลกอฮอล์ระเหยไปหมด
         ๑๐. บริเวณหน้าท้อง ใช้สองมือถูเป็นวงกลม เริ่มต้นที่ตรงกลางส่วนของท้อง แล้วถูมาทางด้านล่างจนทั่วท้อง ควรให้ผู้ป่วยงอเข่าขึ้นทั้งสองข้างเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหน้าท้องหย่อน การถูบริเวณหน้าท้องนี้อาจทำซ้ำไปมาได้หลายครั้ง
         ๑๑. บริเวณหลังของผู้ป่วย
                    ก. ช่วยผู้ป่วยให้พลิกตะแคงหรือนอนคว่ำ  ใช้หมอนรองไว้บริเวณท้องและอกด้านล่าง
                    ข. ใช้สองมือถูแอลกอฮอล์ลงบนไหล่ ถูเป็นวงกลมลงมาที่เท้าทั้งสองข้าง แล้วถูกลับขึ้นไปให้ทั่วหลัง ถูแรงๆซ้ำๆหลายครั้ง
                    ค. จบด้วยการใช้สองมือลูบเบาๆ จากไหล่ผ่านสองข้างสันหลังลงมาที่ก้น  แล้วลูบจากคอลงมาตามกระดูกสันหลังถึงก้นใช้มือทีละข้าง
         ๑๒. ช่วยผู้ป่วยใส่เสื้อผ้า แล้วให้นอนพัก

ข้อควรระวัง
          ๑. อย่าทำแอลกอฮอล์หกรดโต๊ะหรือเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ
          ๒. ปิดขวดแอลกอฮอล์ให้แน่นขณะไม่ได้ใช้
          ๓. การถูแอลกอฮอล์ควรนวดแรงแต่ละมุลละม่อม ไม่ทำอย่างรีบร้อน
          ๔. อย่าถูนวดบริเวณที่มีแผล
          ๕. ขณะที่ทำผู้ป่วยควรอยู่ในห้องที่มิดชิด และเปิดส่วนของร่างกายเฉพาะบริเวณที่จะนวดเท่านั้น