วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2559

ยูเรเนียมคืออะไร ?

วันที่ ๑๘ เดือน มกราคม  พ . ศ. ๒๕๕๙
ที่มา : ชมรมบ้านวิทยาศาสตร์   วิทยาศาสตร์น่ารู้  บริษัท ไทยร่มเกล้า จำกัด  หน้า ๑๐๔ - ๑๑๓


เรื่อง ยูเรเนียมคืออะไร ?


                    ยูเรเนียม เป็นธาตุกัมมันตรังสีที่มีสีเงินและเป็นโลหะหนัก จะกลายเป็นสีดำถ้าสัมผัสกับอากาศ  โลหะนี้เพียงหนึ่งลูกบาศก์ฟุตจะหนักถึงครึ่งตัน  มักอยู่ในรูปยูเรเนียมออกไซด์ในแร่พิชเบลนด์  ซึ่งเป็นแร่ที่มีส่วนผสมระหว่างยูเรเนียมและเรเดียม

                    ยูเรเนียม ถูกค้นพบโดยนักเคมีชาวเยอรมันชื่อ  ไฮน์ริค  มาร์ติน  แคลพรอท                   ในปี ค.ศ. ๑๗๘๙  เขาได้ตั้งชื่อว่า  ยูเรนิต  แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นยูเรเนียมตามชื่อดาวยูเรนัส  ในตอนปลายศตวรรษที่ ๑๘ นักวิทยาศาสตร์ได้สร้างสารประกอบของโลหะชนิดนี้ขึ้นมากมายและในปี   ค.ศ.  ๑๘๙๖ เฮนรี  เบคเคอเรล  ได้พบกัมมันตภาพรังสีในยูเรเนียม

                    ยูเรเนียม ในธรรมชาติเป็นส่วนผสมของ ๒ ไอโซโทปคือ ยูเรเนียม-๒๓๘ (๙๙.๒๘๓%)  และยูเรเนียม-๒๓๕ (๐.๗๑๑%)  ในช่วงแรกยูเรเนียมถูกนำมาใช้ย้อมสีผ้าไหมและภาชนะดินเผา  แต่ภายหลังกัมมันตภาพรังสีที่ได้จากนิวเคลียสของยูเรเนียมมีประโยชน์มากในด้านพลังงานนิวเคลียร์  การเกษตร  อุตสาหกรรม  งานวิจัยทางชีววิทยา  และการแพทย์
                    
                    ในค.ศ. ๑๙๓๘  มีผู้ค้นพบกระบวนการนิวเคลียร์ฟิชชั่นโดยการยิงนิวตรอนไปที่นิวเคลียสของยูเรนียม-๒๓๕  แล้วให้พลังงานจำนวนมหาศาลออกมา  หลักการนี้สหรัฐอเมริกาได้นำมาทำระเบิดปรมาณูในปี  ค.ศ. ๑๙๔๕ เพื่อใช้ต่อสู้กับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ ๒
                    ปัจจุบันปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชันได้นำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าซึ่งยูเรเนียมเพียง  ๑ ปอนด์สามารถให้พลังงานได้เท่ากับพลังงานจากการเผาถ่านหิน ๓  ล้านปอนด์  ดังนั้นไอโซโทปของยูเรเนียม-๒๓๕  จึงได้นำมาใช้ในเตาปฎิกรณ์พลังงานปรมาณูเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า  นอกจากนี้ยูเรเนียมยังใช้ดูดรังสีเอ็กซ์และรังสีแกมมาอีกด้วย  ออกไซด์ของยูเรเนียมใช้เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในปฏิกิริยาเคมี
                    เราจะพบยูเรเนียมบนเปลือกโลก  ๔  ส่วนในพื้นที่ ๑  ล้านส่วนในบริเวณที่เป็นภูเขาหิน  พิชเบลนด์เป็นหนึ่งในสินแร่ที่สำคัญของยูเรเนียมซึ่งพบมากในประเทศประเทศอังกฤษ  อินเดีย  และทวีปแอฟริกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น